โรคเกล็ดเลือดต่ำเป็นโรคที่ทุกคนต้องเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง แต่ก็คงยังไม่รู้ใช่ไหม ? ว่าโรคเกล็ดเลือดต่ำเกิดจากอะไร ? วันนี้เราเลยจะ มาทำความรู้จักโรคเกล็ดเลือดต่ำ ( Thrombocytopenia ) เกิดจากอะไร ? แล้วถ้าเป็นแล้วต้องได้รับการรักษาตัวเองยังไง ? มารู้กันไปพร้อมๆกันที่นี่เลย
มาทำความรู้จักโรคเกล็ดเลือดต่ำ ( Thrombocytopenia )
ความหมาย เกล็ดเลือดต่ำ ( Thrombocytopenia )
เกล็ดเลือดต่ำ ( Thrombocytopenia ) คือ ภาวะที่เกล็ดเลือดมีจำนวนน้อยกว่า 150,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร อาจพบรอยช้ำ เป็นจ้ำ หรือจุดแดงใต้ผิวหนัง รวมถึงมีเลือดออกมาก ถึงแม้จะเป็นแผลขนาดเล็ก โดยมีสาเหตุมาจากการผลิตเกล็ดเลือดที่บริเวณไขกระดูกไม่เพียงพอ หรือภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายเกล็ดเลือด รวมถึงม้ามอาจมีการกักเกล็ดเลือดมากเกินความจำเป็น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อ โรคมะเร็ง หรือตับแข็ง ซึ่งรักษาได้ตามสาเหตุ หากผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำมากอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เนื่องจากเลือดออกในสมอง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้
อาการของเกล็ดเลือดต่ำ
เลือดออก เป็นอาการสำคัญของผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ในบางรายอาจไม่พบอาการจนกระทั่งมีการเจาะเลือด อาการจะขึ้นอยู่กับจำนวนของเกล็ดเลือดว่ามีจำนวนต่ำมากหรือน้อยเพียงใด หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้เลือดไหลไม่หยุด รวมถึงอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยดังต่อไปนี้
- รอยช้ำสีแดง สีม่วง หรือสีน้ำตาล กระจายใต้ผิวหนัง
- ผื่นสีแดงหรือสีม่วง เป็นจุดขนาดเล็กกระจายใต้ผิวหนัง
- เลือดออกที่จมูกหรือเหงือก
- เลือดออกมากหลังเกิดบาดแผล ถึงแม้จะเป็นบาดแผลขนาดเล็ก
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ
อาจพบอาการเลือดออกภายในหรือมีอาการรุนแรงได้ หากมีจำนวนเกล็ดเลือดในปริมาณต่ำมาก เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด หรืออุจจาระมีสีเข้มมาก รวมถึงอาการเลือดไหลไม่หยุด ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

สาเหตุของเกล็ดเลือดต่ำ
ปกติคนเราจะมีจำนวนเกล็ดเลือดอยู่ที่ประมาณ 150,000-450,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร แต่ละเกล็ดจะมีชีวิตอยู่ประมาณ 10 วัน ร่างกายจะผลิตเกล็ดเลือดใหม่ออกมาจากบริเวณไขกระดูก รวมถึงผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์เม็ดเลือดแดง หากร่างกายผลิตเกล็ดเลือดออกมาไม่เพียงพอหรือมีการทำลายเกล็ดเลือดมากกว่าที่ผลิตออกมา จะทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ อาจแบ่งสาเหตุได้เป็น 3 ประเภท โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
สาเหตุจากการสร้างเกล็ดเลือด : เป็นผลมาจากไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดได้ไม่เพียงพอ
- โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ ( Aplastic Anemia ) เป็นโรคเลือดผิดปกติที่พบค่อนข้างน้อยและร้ายแรง ทำให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเกล็ดเลือดใหม่ออกมาได้เพียงพอ
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะไปทำลายไขกระดูกและเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ ( Stem Cell )
- การรักษาบางชนิด เช่น การฉายรังสี หรือการทำเคมีบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาโรคมะเร็ง
- การสัมผัสสารเคมีบางชนิด เช่น สารกำจัดศัตรูพืช สารหนู หรือเบนซีน ( Benzene ) จะเข้าไปชะลอการผลิตเกล็ดเลือดในร่างกาย
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาคลอแรมเฟนิคอล ( Chloramphenicol ) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย จะส่งผลต่อการสร้างเกล็ดเลือด และยาแอสไพริน ( Aspirin ) หรือยาไอบูโปรเฟน ( Ibuprofen ) จะส่งผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด
- การดื่มแอลกอฮอล์ จะชะลอการผลิตเกล็ดเลือด และทำให้จำนวนเกล็ดเลือดต่ำลงโดยเฉพาะในผู้ที่มีพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
- การขาดแร่ธาตุและวิตามิน เช่น วิตามินบี 12 โฟเลท ธาตุเหล็ก
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น อีสุกอีใส คางทูม หัดเยอรมัน ไวรัสเอ็บสไตบาร์ ( Epstein-Barr Virus ) หรือ พาร์โวไวรัส ( Parvovirus ) รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเอดส์ ( AIDS ) หรือโรคตับอักเสบซี ( Hepatitis C )
- พันธุกรรม เช่น ภาวะภูมิต้านทานบกพร่อง Wiskott-Aldrich Syndrome

สาเหตุจากการทำลายเกล็ดเลือด : เป็นผลมาจากร่างกายใช้หรือทำลายเกล็ดเลือดมากเกินไป
- โรคภูมิต้านทานตนเอง หรือโรคออโตอิมมูน ( Autoimmune Diseases ) เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันที่ปกติจะต้องกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย แต่เกิดความผิดพลาดไปทำลายเซลล์ เนื้อเยื่อในร่างกาย รวมถึงเกล็ดเลือด จะทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ ตามมา เช่น ภาวะ Immune Thrombocytopenia: ITP
- โรคลูปัส ( Lupus ) หรือโรคเอสแอลอี ( SLE ) หรือที่รู้จักกันในชื่อโรคพุ่มพวง
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ( Rheumatoid Arthritis )
- การใช้ยาบางชนิด การตอบสนองต่อยาอาจสร้างความสับสนให้กับร่างกายและเกิดการทำลายเกล็ดเลือดได้ เช่น
- ยาควินิน เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย
- ยาแวนโคมัยซิน เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหารและอาการลำไส้อักเสบ
- ยาไรแฟมพิน เป็นยาที่ใช้รักษาวัณโรค
- ยาโคลพิโดเกรล เป็นยาที่ใช้ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด
- การผ่าตัด เช่น การผ่าตัดลิ้นหัวใจเทียม การผ่าตัดหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจหรือการผ่าตัดบายพาส
- การตั้งครรภ์ ร้อยละ 5 ของหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด จะมีโอกาสเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด
- เงื่อนไขอื่น ๆ ที่พบได้ค่อนข้างน้อยและมีอาการรุนแรง ที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ เช่น
- ภาวะ Thrombotic Thrombocytopenic Purpura: TTP ทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดในร่างกาย หลอดเลือดในสมอง ไต และหัวใจ
- ภาวะ Disseminated Intravascular Coagulation: DIC ทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นทั่วร่างกายอย่างกะทันหัน เป็นภาวะแทรกซ้อนหนึ่งของการตั้งครรภ์ การติดเชื้ออย่างรุนแรง รวมถึงการบาดเจ็บอย่างรุนแรง
สาเหตุจากเกล็ดเลือดถูกกักอยู่ที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป เช่น ม้าม มีหน้าที่ขจัดเชื้อโรคและเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้วออกจากกระแสเลือด ปกติเกล็ดเลือดประมาณ 1 ใน 3 จะถูกกักอยู่ที่ม้าม หากเกิดการติดเชื้อ โรคมะเร็ง หรือตับแข็ง เกล็ดเลือดจะถูกกักที่ม้ามมากขึ้น ทำให้ม้ามโต และทำให้เกล็ดเลือดไหลเวียนไม่เพียงพอในกระแสเลือด และเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำในที่สุด
การรักษาเกล็ดเลือดต่ำ
แพทย์จะรักษาเกล็ดเลือดต่ำเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและความพิการที่อาจเกิดขึ้น วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย
ในผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำไม่มาก หากเกิดบาดแผลแล้วพบว่ามีเลือดไหลไม่มากไปกว่าปกติ อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ในผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์อาจเปลี่ยนยาหรือให้หยุดยาที่เป็นต้นเหตุ หรือแพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาเพื่อยับยั้งภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยเกล็ดเลือดต่ำที่มีสาเหตุมาจากปัญหาของระบบภูมิคุ้มกัน

การป้องกันเกล็ดเลือดต่ำ
การป้องกันทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะไปชะลอการสร้างเกล็ดเลือด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี เช่น สารกำจัดศัตรูพืช สารหนู หรือเบนซีน ( Benzene ) เพราะจะเข้าไปชะลอการผลิตเกล็ดเลือดในร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ส่งผลต่อจำนวนและการทำงานของเกล็ดเลือด อาจทำให้เกิดเลือดออก หรือทำให้เลือดจางลงได้ เช่น แอสไพริน ( Aspirin ) หรือไอบูโปรเฟน ( Ibuprofen )
- ปรึกษาแพทย์ก่อนการเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ เช่น วัคซีนป้องกันโรคคางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส เป็นต้น
บทความที่น่าสนใจกับ เทคนิคปลูกผัก 9 ชนิด บนคอนโด สำหรับชีวิตคนเมือง และ รู้จัก 7 พฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ ที่ทำร้ายสุขภาพตัวเอง!