ทำความรู้จัก “มะเร็งปากมดลูก” ภัยร้ายใกล้ตัวเรา ปัจจุบันผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยเฉลี่ยปีละ 6,000 ราย และเสียชีวิตสูงถึง 7 คนต่อวัน โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจาก “การติดเชื้อ HPV” เชื้อที่สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ และสิ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้น คือเมื่อได้รับเชื้อ HPV แล้วจะไม่มีอาการใด ๆ จนกว่าเชื้อจะพัฒนากลายเป็นมะเร็งค่ะ ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่เสี่ยงเพราะผู้ชายก็เสี่ยงที่จะเป็นกันได้เช่นกัน วันนี้เราเลยจะพาไปทำความรู้จักกับโรคนี้ เพื่อที่เราจะสามารถดูแลตัวเองและสังเกตอาการต่าง ๆ ได้ พร้อมแล้วก็ไปดูกันเลยค่ะ
มะเร็งปากมดลูกหมายถึง ก้อนเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นบริเวณมดลูก ช่องคลอด และช่องปากมดลูก มะเร็งปากมดลูกมักจะเกิดในหญิงอายุประมาณ 50 ปี สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกเกือบ 70% เกิดจากเชื้อไวรัส HPV รองลงมาคือการสูบบุหรี่ และภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่มาเกี่ยวพันกันก็สามารถทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก ได้แก่
การติดเชื้อหนองในเทียม (Chlamydia infectious) ความเคยชินในการบริโภคที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มักสัมผัสหรือใช้ยาที่มีฮอร์โมน มีประวัติทางครอบครัวเป็นมะเร็งปากมดลูก มักกินยาคุมกำเนิด มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ตั้งครรภ์เร็ว คลอดบุตรหลายครั้ง เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้

ไวรัสมะเร็งปากมดลูกก็สามารถพบได้ในผู้ชายได้
ไวรัสมะเร็งปากมดลูกเป็นที่คุ้นหูมาหลายปี เพราะมากกว่า 90%ของมะเร็งปากมดลูก จะตรวจพบไวรัสตัวร้ายนี้เสมอ ปี 2017 ที่ผ่านมา มีรายงานจากศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เผยยอดชายรักชาย ที่ติดเชื้อไวรัส HIV หรือไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ โดยมีการตรวจพบเชื้อไวรัสมะเร็งปากมดลูก (HPV) ร่วมด้วยถึง 85% ซึ่งเชื้อ HPV ในเพศชายนี้สามารถก่อให้เกิดมะเร็งในช่องปากและลำคอ มะเร็งองคชาต รวมถึงมะเร็งปากทวารหนัก สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์ชนิดเดียวกับที่มะเร็งปากมดลูกได้ในผู้หญิงนั่นเอง
ไวรัส HPV นั้นมักจะพบจากการมีเพศสัมพันธ์ (ทางปาก ช่องคลอด ทวารหนัก) รวมทั้งการสัมผัสเชื้อโดยตรง ในปัจจุบันไวรัส HPV มีมากกว่า 150 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ 6 และ 11 เป็นตัวก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ ส่วนสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง จุดกำเนิดเริ่มต้นของเพศที่แพร่เชื้อนั้น จึงพบได้ทั้งสองเพศ ดังนั้นการรณรงค์ให้หญิงเป็นฝ่ายวิ่งหาวัคซีนป้องกันแต่เพียงเพศเดียวอาจดูไม่ยุติธรรมเท่าใดนัก เพศชายที่มีความเสี่ยง เช่น มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ หรือชอบการร่วมเพศทางทวารหนัก จึงควรตรวจหาเชื้อ HPV ในร่างกายเพื่อรีบหาทางรักษาก่อนที่จะเป็นโรคร้าย หรือฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อ HPV ในอนาคต
อาการของโรคมะเร็งปากมดลูก
- ประจำเดือนมาผิดปกติหรือเมื่อหมดประจำเดือนแล้วยังมีเลือดออกทางช่องคลอด
- น้ำคัดหลั่งจากช่องคลอดเพิ่มมากขึ้น น้ำคัดหลั่งจะมีสีขาวหรือปนเลือด อีกทั้งมีกลิ่นเหม็นคาว
- มีอาการปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่และท้องผูก เป็นต้น
- มีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่แตกต่างกัน
- ซูบผอม โลหิตจาง เป็นไข้ และเกิดภาวะอ่อนเปลี้ยทางร่างกาย เป็นต้น

วิธีตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก
1. วิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกแปปเสมียร์ (Pap smear) เป็นการตรวจที่แพทย์จะใช้ไม้พายเก็บเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก ก่อนนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันมานาน เป็นวิธีการตรวจที่ราคาไม่สูง แต่ด้านความแม่นยำอาจไม่มากนัก อยู่ที่ประมาณ 50 %
2. วิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกตินเพร็พ (ThinPrep) วิธีนี้พัฒนามาจากวิธีแปปเสมียร์ มีประสิทธิภาพและความแม่นยำอยู่ที่ประมาณ 90-95% โดยเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกด้วยอุปกรณ์เฉพาะ จากนั้นใส่ลงในขวดน้ำยาตินเพร็พ ก่อนส่งตรวจผลในห้องปฏิบัติการ
3. วิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกตินเพร็พ (ThinPrep) + การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA Test) เป็นการตรวจที่เชื่อว่าดีที่สุด เพราะเป็นการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกร่วมกับตรวจดีเอ็นเอของเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูก ร่วมกับการเจาะลึกให้มากขึ้นว่ามีการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 หรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มีการติดเชื้อก็สามารถมั่นใจได้ถึง 99 % ว่าในช่วง 1-2 ปีที่รับการตรวจโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกจะน้อยมาก
การตรวจ HPV ในเพศชาย สามารถทำได้คล้ายกับผู้หญิง นั่นคือการเก็บเซลล์บริเวณองคชาตหรือปากทวารหนัก เพื่อนำเซลล์ที่สงสัยไปดูการเรียงตัวว่าผิดปกติเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหรือไม่ และการได้รับวัคซีนตั้งแต่อายุ 9 -26 ปี สามารถป้องกันมะเร็งปากทวารหนักได้ถึง 78% และลดอัตราการแพร่เชื้อไวรัสนี้ได้ 90-100% ในกรณีที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อไวรัส HPV มาก่อน หากเคยได้รับเชื้อ HPV บางสายพันธุ์มาแล้ว วัคซีนจะป้องกันได้เฉพาะในสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มีการรับรองเท่านั้น

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ในปัจจุบันนั้นวัคซีนที่มีในท้องตลาดจะป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ 2 หรือ 4 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่สำคัญคือ HPV สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก ส่วน HPV สายพันธุ์ที่ 6 และ 11 จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดหูดที่อวัยวะเพศ HPV Vaccine สามารถป้องกันการเกิด มะเร็งปากมดลูกได้ 70%, มะเร็งทวารหนัก 80%, มะเร็งช่องคลอด 60% และมะเร็งอวัยวะเพศสตรี 40% นอกจากนั้นยังสามารถป้องกันการเกิดหูดที่อวัยวะเพศบางชนิดได้อีกด้วย
- แนะนำให้ฉีดในเด็กช่วงอายุ 11-12 ขวบ แต่สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบขึ้นไป ซึ่งในช่วงวัยนี้ วัคซีนฉีดเพียง 2 เข็ม โดยห่างกัน 6 เดือน
- ในผู้ที่อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ต้องฉีดวัคซีน 3 เข็ม คือครั้งที่ 0,1,6 เดือน
- ไม่แนะนำฉีดวัคซีนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 26 ปีขึ้นไป เพราะอาจเกิดประโยชน์น้อย
- HPV Vaccine แนะนำให้ฉีดทั้งผู้ชายและผู้หญิง ในกรณีผู้ชายนั้นจุดประสงค์เพื่อ ป้องกันมะเร็งทวารหนัก หูดที่อวัยวะเพศ และป้องกันการเป็นพาหะไวรัส HPV ต่อสตรี
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับข้อมูลความรู้เกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูกที่เราได้นำมาให้ได้ดูกัน บอกเลยว่าไม่ใช่แค่สาว ๆ เท่านั้นที่ต้องดูแลตัวเอง และค่อยสังเกตอาการต่าง ๆ ผู้ชายก็ต้องทำเช่นกันเพราะมีโอกาสที่จะเป็นได้เช่นกัน ถ้าใครที่กลัวและไม่อยากจะเป็นโรคนี้แนะนำว่าควรจะไปฉีดวัคซีน แต่เอาจริง ๆ แล้วแนะนำว่าทุก ๆ คนควรจะไปฉีดเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก เพราะเชื่อว่าคงไม่มีใครที่อยากจะให้ตัวเองเป็นแล้วค่อยหาทางแก้ใช่ไหมล่ะคะ
บทความแนะนำ